สภท. จับมือกูรูด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม จัดสัมมนาสื่อมวลชน ชู “ไฟฟ้า” คู่ “การลดคาร์บอน” หัวใจสำคัญของการพัฒนาในพื้นที่ EEC
สภท. ร่วมกับ กระทรวงพลังงาน EEC อบก. และ กฟผ. จัดสัมมนาสื่อมวลชนภูมิภาค มุ่งสื่อสารความสำคัญของพลังงานไฟฟ้า และการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ชี้โรงไฟฟ้าและระบบส่งที่มั่นคงและเพียงพอ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจในเขตนครหลวงและภาคกลาง รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
วันพุธที่ 30 ตุลาคม 2567 สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย (สภท.) ร่วมกับกระทรวงพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดสัมมนาสื่อมวลชน หัวข้อ “ความสำคัญของพลังงานไฟฟ้ากับการเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจในเขตนครหลวงและภาคกลาง” โดยมีสื่อมวลชนจังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี เข้าร่วม ณ โรงแรม ซีทู พูล วิลล่า รีสอร์ท พัทยา จังหวัดชลบุรี
นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา กล่าวว่า ระบบเศรษฐกิจของภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง รวมไปถึงจังหวัดใกล้เคียง อาทิ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญด้านศูนย์กลางของระบบคมนาคมและขนส่งสินค้าของประเทศ การพัฒนาสาธารณูปโภค โดยเฉพาะระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคงและเพียงพอ ถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศให้เกิดการพัฒนาและส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคตพร้อมสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนหรือสร้างฐานการผลิตในประเทศไทย
ดร.ธัชพล กาญจนกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยในการบรรยายพิเศษ หัวข้อ การฟื้นฟูเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมกับความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ EEC ว่า EEC เป็นโครงการต่อยอดการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ อาทิ การขนส่งและโลจิสติกส์ เพื่อช่วยลดเวลาการเดินทางและประหยัดค่าขนส่ง การสร้างเขตส่งเสริมนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ที่ทันสมัย และการศึกษาการจัดการมลพิษทางอากาศในพื้นที่อุตสาหกรรม ปัจจุบันมีผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ 1.3 ล้านราย มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดราว 4,000 เมกะวัตต์ หรือ 15% ของประเทศ สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้สูงสุด 6,000 เมกะวัตต์ และรองรับการขยายตัวได้อีก 2,000 เมกะวัตต์ โดยภาคที่ใช้ไฟฟ้ามากที่สุดคือภาคอุตสาหกรรม และจังหวัดที่ใช้ไฟฟ้ามากที่สุดคือจังหวัดชลบุรี จำเป็นต้องพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งผลิตที่สำคัญในพื้นที่ใกล้เคียงในพื้นที่ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ จ.นนทบุรี โรงไฟฟ้า พระนครใต้ จ.สมุทรปราการ และโรงไฟฟ้าบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ของ กฟผ. รวมถึงโรงไฟฟ้าเอกชนต่าง ๆ โดยเชื่อมโยงพลังงานไฟฟ้าด้วยระบบโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคต
น.ส.ชฎารัตน์ สุนทรเกตุ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานประจำเขต 13 เปิดเผยว่า หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย ส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยเพิ่มขึ้นในทุกภาคส่วน โดยในช่วงเดือนมกราคม - กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา มีการใช้ไฟฟ้าในภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 ร้อยละ 8.4 และร้อยละ 3.4 ตามลำดับ ปัจจุบัน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้จัดทำร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2567 – 2580 (PDP2024) เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางพลังงานโลกที่มุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน และในช่วงของการเปลี่ยนผ่านพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด ได้กำหนดนโยบายการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เช่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนประเภทต่าง ๆ
นายรองเพชร บุญช่วยดี รองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมการปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้พลังงานในช่วงเดือนมกราคม - กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ประเทศไทยปล่อยก๊าซ CO2 รวมทุกสาขา ลดลงร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งประเทศไทยมีนโยบายด้านพลังงานที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่าง ๆ ที่เป็นพลังงานสะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงทำให้มีการปล่อยก๊าซ CO2 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก และจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการลดปลดปล่อยก๊าซ CO2 ตามเป้าหมายของประเทศได้
นายสมโชค พาหุบุตร ผู้อำนวยการโครงการก่อสร้างขยายและเสริมความมั่นคงระบบส่งไฟฟ้า กฟผ. เปิดเผยว่า กฟผ. สนับสนุนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกให้สามารถเดินหน้าและบรรลุตามวัตถุประสงค์พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มีความมั่นคงและยั่งยืน ผ่านการดำเนินโครงการก่อสร้างและปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกหลายโครงการ ได้แก่ สายส่ง 230 กิโลโวลต์ (kV) ชลบุรี 2 - บ่อวิน สถานีไฟฟ้าแรงสูงบางละมุง สถานีไฟฟ้าแรงสูงศรีราชา สถานีไฟฟ้าแรงสูงอ่าวไผ่ เพื่อรองรับการใช้ไฟฟ้าและการส่งจ่ายไฟฟ้าในพื้นที่ EEC รวมถึงเชื่อมโยงพลังงานไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ที่สำคัญของ กฟผ. ในการเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าให้มีเสถียรภาพ ผสานความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ในการเดินหน้าผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานสีเขียว เพิ่มขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
ด้าน นายอนันต์ นิลมานนท์ นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย (สภท.60ปี) กล่าวถึงการจัดงานครั้งนี้ว่า “วัตถุประสงค์ของการจัดงานสัมมนาครั้งนี้ นับว่าเป็นตัวกลางในการเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างคณะสื่อมวลชนจาก 5 จังหวัด สามารถเสริมสร้างภาคีเครือข่ายในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ดีร่วมกัน และเป็นการสัมมนาที่เป็นประโยชน์กับสื่อมวลชน
โดยจะช่วยเพิ่มองค์ความรู้ Upskill ให้กับคณะสื่อมวลชน ที่ได้มาแลกเปลี่ยนมุมมอง และร่วมรับฟังแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจในเขตนครหลวงและภาคกลาง, การฟื้นฟูเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมกับความมั่นคงของพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ EEC และ เข้าใจบทบาทของ EEC ในทุกมิติ เพื่อเป็นแนวทางในการนำไปถ่ายทอดเป็นสื่อ เพื่อนำเสนอให้กับประชาชนรับรู้ รับทราบต่อไป
____
#สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย