“กองทัพเรือ ประกอบพิธีนำเรือ ต.94 และเรือ ต.95 ไปจัดวางเป็นอุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเล”
วันที่ 3 กันยายน 2567 เวลา 08.30 น. พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ ประธานกรรมการอำนวยการโครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เป็นประธานประกอบพิธีนำเรือ ต.94 และเรือ ต.95 ไปจัดวางเป็นอุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเล บริเวณทิศตะวันออกของเกาะจวง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
พร้อมด้วย คณะกรรมการอำนวยการโครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ผู้แทนหน่วยงานสนองพระดำริ และเจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารเรือ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการโครงการฯ กำลังพลกองทัพเรือ หน่วยงานสนองพระดำริ ประชาชน นักเรียนจากโรงเรียนในพื้นที่กว่า 300 คน ร่วมในพิธีดังกล่าว
สำหรับพิธีนำเรือ ต.94 และเรือ ต.95 ไปจัดวางเป็นอุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเล ประกอบด้วย พิธีบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทาน และพิธีเปิดโครงการอุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเล การจัดแสดงนิทรรศการของหน่วยงานสนองพระดำริ นิทรรศการประวัติเรือ ต.94 และเรือ ต.95 ณ สโมสรสัญญาบัตร กองเรือยุทธการ และพิธีจัดวางเรือ ต.94 และเรือ ต.95 บริเวณเกาะจวง พิธีกล่าวอำลา พิธีวางพวงมาลา การเป่าแตรนอน การให้สัญญาณชักหวูดนำเรือลงใต้ทะเล การเปิดคลุมป้ายโครงการฯ บริเวณชายหาดเกาะจวง และการปล่อยน้ำเข้าเรือเพื่อนำเรือลงสู่ใต้ทะเล ณ เรือหลวงกระบุรี
โครงการอุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเล ภายใต้โครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีแด่พระบรมวงศานุวงศ์ และปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล โดยนำเรือ ต.94 และเรือ ต.95 ไปจัดวางเป็นอุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเลให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลชายฝั่ง เป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งที่อนุบาลหรือยึดเกาะของตัวอ่อนปะการัง รวมทั้งจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวใต้ทะเลในพื้นที่จังหวัดชลบุรีแห่งใหม่ เป็นการขยายกลุ่มนักท่องเที่ยวที่แออัด อันจะทำให้ปะการัง ได้มีเวลาพักฟื้นและเจริญเติบโตของปะการังต่อไป
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีเจตนารมณ์ ที่จะอนุรักษ์แนวปะการัง กัลปังหา และสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย และทรงห่วงใยปัญหาความเสื่อมโทรม ของทรัพยากรธรรมชาติใต้ทะเล จึงโปรดให้มีการจัดตั้งมูลนิธิและโครงการ “อนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้แนวปะการัง กัลปังหา และสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ได้รับการอนุรักษ์รวมทั้งได้รับการฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล และสัตว์ทะเลไม่ถูกทำลาย ทั้งยังเป็นการกระตุ้นและปลูกจิตสำนึก ให้ประชาชนได้เห็นถึงคุณค่าของทรัพยากรทางทะเล นำไปสู่ความสมดุลทางธรรมชาติ และการพัฒนาที่ยั่งยืนสืบไป
กองทัพเรือได้ตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล จึงได้จัดทำโครงการนำเรือ ต.94 และเรือ ต.95 ไปจัดวางเป็นอุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเล ณ บริเวณทิศตะวันออกของเกาะจวง ภายใต้โครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เพื่อสนองพระดำริที่ทรงมีเจตนารมณ์ที่จะอนุรักษ์แนวปะการัง กัลปังหา และสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย โดยทรงห่วงใยปัญหาเรื่องความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติใต้ทะเล การทำร้ายสัตว์ทะเลด้วยน้ำมือมนุษย์โดยตั้งใจหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เป็นแหล่งฝึกศึกษาให้กับนักเรียนฝึกดำน้ำ เป็นการสร้างแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลแห่งใหม่ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี เป็นการลดผลกระทบจากการท่องเที่ยวดำน้ำในแนวปะการังตามธรรมชาติ และเปิดโอกาสในการพักฟื้นตัวของแหล่งท่องเที่ยวแนวปะการังธรรมชาติให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนเป็นการช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เป็นแหล่งรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรีต่อไป
เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ต.94 และ ต.95 เป็นเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.91 ซึ่งประกอบด้วยเรือ ต.91, เรือ ต.92, เรือ ต.93, เรือ ต.94, เรือ ต.95, เรือ ต.96, เรือ ต.97, เรือ ต.98 และเรือ ต.99 รวมทั้งสิ้น 9 ลำ สร้างโดยกรมอู่ทหารเรือ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2510 - 2530 นับเป็นเรือตรวจการณ์สมัยใหม่ชุดแรก ที่กองทัพเรือไทยสร้างเองในประเทศ ตามพระราชดำริ และพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้แก่กองทัพเรือไทยเป็นล้นพ้นพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงมีพระราชดำริว่า กองทัพเรือเราควรต่อเรือประเภทนี้ไว้ใช้เองบ้าง ทั้งนี้ด้วยเรือยนต์รักษาฝั่งมีบทบาทสำคัญ เช่น ในการปราบปราม และป้องกันการลักลอบลำเลียงอาวุธ และกำลังคนของฝ่ายก่อการร้ายเข้ามาในน่านน้ำอาณาเขตของประเทศเราในระหว่างการต่อเรือ ต.91 กองทัพเรือได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์โดยทรงให้สถาบันวิจัยและทดสอบ แบบเรือของต่างประเทศช่วยทดสอบแบบเรือลำนี้ทางเทคนิคต่าง ๆ ให้ และได้พระราชทานคำแนะนำจนถึงทรงร่วมทดลองเรือในทะเลด้วยพระองค์เองกองทัพเรือยังคงสานต่อพระราชปณิธานอย่างต่อเนื่องสืบมา ในการปรับปรุงแบบเรือและสร้างเพิ่มเติม เช่น เรือ ต.92, ต.93, ต.94, ต.95, ต.96, ต.97, ต.98,ต.99, ต.991, ต.994 ซึ่งทำให้กองทัพเรือสามารถสร้างเรือรบเองได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างรั้วทางทะเลให้เข้มแข็งทั้งยังทำให้องค์บุคคลของกองทัพเรือได้มีการพัฒนาความรู้ ความสามารถ และก้าวไปสู่การต่อเรือขนาดใหญ่ต่อไป
สำหรับ เรือ ต.94 ขึ้นระวางประจำการเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2526 และปลดประจำการเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 และเรือ ต.95 ขึ้นระวางประจำการเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2525 และปลดประจำการเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 โดยเรือทั้ง 2 ลำ สังกัดหมวดเรือที่ 2 กองเรือยามฝั่ง กองเรือยุทธการ.