Header ADS

“70 ปีวิทยุศึกษา”

ฮีลใจในงาน “70 ปีวิทยุศึกษา” สื่อสร้างสรรค์แห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ”ฟังวิทยุศึกษา เสริมสร้างปัญญา พัฒนาชีวิต“

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ที่อาคารศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา ถ.ศรีอยุธยา ราชเทวี กรุงเทพฯ นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ได้มอบหมายให้ นายเอกราช ชวีวัฒน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ เปิดงาน“ 70 ปีวิทยุศึกษา” โดยมี นายกษิพัฒ ภูลังการ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา (ศท.) นางวรรวิไล วรวิกโฆษิต นางรัชดา คลี่สุนทร นางวรภร ประสมศรี 3 อดีต ผอ.ศท.และ ผอ.กองศูนย์ส่วนกลางของ สกร.ร่วมให้การต้อนรับ

" อันอำนาจใดใดในโลกนี้
ไม่เห็นมีเปรียบปานการศึกษา
สร้างคนหาค่ามิได้ในโลกา
ขึ้นจากผู้ที่หาค่าไม่มี"
(หม่อมหลวง ปิ่น มาลากุล)

เมื่อครั้งอดีตที่ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้เล็งเห็นว่าวิทยุกระจายเสียง สามารถเผยแพร่ความรู้ ข่าวสาร และเข้าถึงประชาชนได้โดยสะดวก สามารถเป็นสื่อกลางในการส่งเสริมการศึกษาให้แก่ปวงชนชาวไทย ดังนั้นสถานีวิทยุศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้กำเนิดขึ้น เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2496 ตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งอนุมัติให้กระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินโครงการวิทยุกระจายเสียงเพื่อการศึกษา จวบจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ.2567) สิริรวมอายุได้ 70 ปีบริบูรณ์

สถานีวิทยุศึกษาในปัจจุบัน มีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ประชาชน เพื่อสร้างศักยภาพและความสามารถในการแข่งขัน ปรับตัวรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี รวมทั้งมีค่านิยมและพฤติกรรมที่เหมาะสม ร่วมอนุรักษ์สืบทอดประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงาม จึงเน้นการพัฒนาคุณภาพรายการและการออกอากาศ โดยเฉพาะการขยายช่องทางการรับฟัง ทั้งการรับฟังผ่านดาวเทียม และระบบออนไลน์ เพื่อให้ผู้ฟังสามารถเลือกรับฟังรายการได้ตามความต้องการและในเวลาที่สะดวก นอกรับฟังด้วยการกระจายเสียงในระบบ FM ความถี่ 92 MHz แล้ว ยังสามารถรับฟังผ่านดาวเทียมได้ทางช่อง R 30 และทาง www.moeradiothai.net ซึ่งสามารถรับฟังได้ทั้งรายการสด (Live Radio) และเลือกรับฟังรายการตามความต้องการ (Radio on Demand)

นอกจากนี้ ยังเป็นสถานที่ศึกษาฝึกอบรมและพัฒนาทักษะ ด้านการจัดผลิตรายการวิทยุกระจายเสียง ให้กับคณะครูอาจารย์ บุคลากรที่สนใจ และนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ ทั่วประเทศ ได้เรียนรู้กระบวนการจัด ผลิตรายการ และการออกอากาศ อย่างเป็นระบบ

นายเอกราช ชวีวัฒน์ รองอธิบดี สกร.กล่าวเปิดงาน 70 ปีวิทยุศึกษาว่า วิทยุศึกษามีบทบาทสำคัญ ในการส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้แก่ประชาชนในทุกช่วงวัย เปลี่ยนผ่านบุคลากรจากคลื่นลูกเก่าสู่คลื่นลูกใหม่มาหลาย Gen (Generation) ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างไม่หยุดยั้ง จากอนาล็อกสู่สังคมโลกยุคดิจิทัล หากวิทยุศึกษาไม่มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงและพัฒนาให้ก้าวทันโลกในแต่ละยุคสมัย คงไม่สามารถยืนหยัดมาได้จนถึง 70 ปีในวันนี้

ขอชื่นชมการทำงานและขอเป็นกำลังใจให้กับบุคลากรของวิทยุศึกษาทุกท่าน ขอให้มุ่งมั่นในการทำงาน สร้างสรรค์สื่อทางการศึกษา เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สู่การพัฒนาประเทศชาติ

นายกษิพัฒ ภูลังกา ผอ.ศท.กล่าวว่า รายการวิทยุยังคงมีเสน่ห์และมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของคนจำนวนมาก ในอนาคต รายการวิทยุมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีและพฤติกรรมการบริโภคสื่อที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การสตรีมออนไลน์ เพิ่มช่องทางการฟังผ่านแอปพลิเคชั่นและเว็บไซต์ ทำให้เข้าถึงผู้ฟังได้ทั่วโลก ขยายเนื้อหาในรูปแบบของพอดแคสต์เพื่อให้ผู้ฟังเลือกฟังตามเวลาและความสะดวก ใช้ AI และบิ๊กดาต้า วิเคราะห์ข้อมูลผู้ฟัง เพื่อปรับปรุงเนื้อหาให้ตรงกับความต้องการ บุคลากรของสถานีวิทยุศึกษาและศูนย์เทคโนโลยีฯ พร้อมที่จะเลียสละและทุ่มเทการทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อบรรจุเป้าหมายของการเป็นสถานีวิทยุเพื่อการศึกษา และการเรียนรู้ของประชาชนอย่างต่อเนื่องตลอดไป

เสียงสะท้อนจาก ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ อดีตโฆษกสถานีวิทยุบีบีซี ภาคภาษาไทย ประจำกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ และเป็นอดีตผู้จัดรายการโลกสุดสัปดาห์ ของวิทยุศึกษา กล่าวว่า “วิทยุศึกษามีต้นทุนที่ดีในสังคมสามารถระดมบุคลากรที่มีความรู้จากทุกภาคส่วนร่วมจัดรายการต่างๆให้หลากหลาย การเป็นสถานีวิทยุแห่งความหลากหลาย ล้วนส่งเสริมความรู้ สติปัญญาและสุนทรียภาพให้แก่ประชาชน การทำสถานีวิทยุศึกษาที่ดี ๆ ที่แม้คนไทยในต่างประเทศก็ยังอยากเป็นแฟนติดตามรับฟัง มันก็อาจจะเป็นหนึ่ง ฟันเฟือง ที่ช่วยให้การศึกษาไทยค่อย ๆ ขยับเป็นแหล่ง Soft power ได้ ขอให้ทศวรรษที่ 8 ของวิทยุศึกษาเจริก้าวหน้า และเป็นสถานีวิทยุแห่งความหลากหลาย“

ภายในงาน “ฮีลใจ” 70 ปี วิทยุศึกษา บรรดาแฟนคลับที่ติดรายการของวิทยุศึกษามาอย่างเหนียวแน่น ได้กระทบไหล่ผู้จัดรายการวิทยุ ตัวจริง เสียงจริง ขวัญใจของใครหลายคน รวมทั้งร่วมร้องรำทำเพลง และสนุกสนานกับคอนเสิร์ต “ฮีลใจ” โดยมี ผัดไท ใจดีดีดี เจมส์ นิกร กอร์มลี่ เป็นผู้พิธีกร และเหล่านักร้องจากผู้จัดรายการ “มุมความสุข” ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นมาร้องเพลงขับกล่อมบนเวทีตลอดทั้งวัน เช่น กอล์ฟ-ชาครีย์นรทิพย์ เสวิกุล (นักการฑูต-นักเขียน-นักจัดรายการวิทยุศึกษา) น้องเพิร์ล-ปิยวดี เสวิกุล ชุติมา เสวิกุล ชลัม เทพชัย พรหมเทพ เทพรัตน์ อุมาพร บัวพึ่ง ดากร เทพทอง นพ.สุทัศน์ ดวงดีเด่น ฎากร เทพทอง และต้น-สุชาติ ชวางกูร เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีบูธกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งเสริมความรู้ ให้แฟนคลับได้ร่วมสนุกสนานอย่างเพลิดเพลิน กระทบไหล่ผู้จัดรายการต่างๆของสถานีวิทยุศึกษาอย่างจุใจ

วิทยุศึกษา “มีดี” อย่างไร ขอเชิญติดตามรับฟังได้ทางคลื่น FM 92.0 MHz และ รับฟังผ่านกล่องสัญญาณดาวเทียม KU Band (Thaicom 6) ที่ช่อง FM 92 หรือเลือกรับฟังรายการสด และย้อนหลังได้ที่ www.moeradiothai.net หรือ แอปพลิเคชัน ฟังเพลิน ซึ่งโหลดได้ทั้ง Play Store และ App Store คลิกที่วิทยุศึกษา

////////////////////