Header ADS

1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว

วช. และภาคีเครือข่าย ร่วมแถลงข่าวการจัดงาน “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว” ณ จ.เชียงราย 

เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ และมูลนิธิมดชนะภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดแถลงข่าวกิจกรรม “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว”พร้อมประกาศเจตนารมณ์ “ภาคี เครือข่าย ร่วมมือ ร่วมใจ สู้ภัย แผ่นดินไหว ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม”ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์

โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธาน โดยได้รับเกียรติจาก นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย, นายฐิติพันธ์ จูจันทร์โชติ รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี นางสาวชัชดาพร บุญพีระณัช รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, นายนัฐวุฒิ แดนดี ผู้อำนวยการกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา, นายนพดล น้อยไพโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 2 กรมชลประทาน, นายชานนท์ โตเบญจพร ผู้แทน กรมโยธาธิการและผังเมือง, ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ และ รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ประธานมูลนิธิมดชนะภัย เข้าร่วมแถลงข่าวจัดกิจกรรม “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว” ในระหว่างวันที่ 5 - 7 พฤษภาคม 2567 ณ จังหวัดเชียงราย

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช.  ได้ดำเนินการสนับสนุนแผนงานการพัฒนาศูนย์กลางกำลังคนระดับสูง (Hub of Talents) และศูนย์กลางการเรียนรู้(Hub of Knowledge) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกันของผู้เชี่ยวชาญแบบสหวิทยาการที่มีความหลากหลาย เสริมสร้างเครือข่ายในระดับนานาชาติของสถาบันวิจัย หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน โดย วช. ได้สนับสนุนและร่วมขับเคลื่อนศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ (EARTH) ร่วมมือกับ มูลนิธิมดชนะภัย และหน่วยงานภาคีเครือที่เกี่ยวข้อง ทั้ง จังหวัดเชียงราย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรธรณี กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ร่วมกันจัดกิจกรรม “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว” ในระหว่างวันที่ 5 – 7 พฤษภาคม 2567 ณ จ.เชียงราย เพื่อรำลึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวแม่ลาว และสร้างความเข้าใจ ความตระหนักรู้ และเตรียมความพร้อมรับมือในการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยพิบัติแผ่นดินไหว รวมถึงถอดบทเรียนจากอดีตถึงปัจจุบัน และเผยแพร่ผลงานวิจัยและวิชาการด้านแผ่นดินไหว พร้อมทั้งลงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว จ.เชียงราย ไปสู่การขับเคลื่อนสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ โดยภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมแผนในการรับมือต่อไปในอนาคต

นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่คนเชียงรายไม่มีวันลืม สำนักงานจังหวัดเชียงราย ในฐานะหน่วยงานบริการภาครัฐเพื่อประชาชนจังหวัดเชียงราย ร่วมจัดกิจกรรม “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหว” เป็นการรำลึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวแม่ลาว ครบรอบ 10 ปี และสร้างความตระหนักรู้ ถอดบทเรียนจากประสบการณ์ตรง ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนนำไปสู่การเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ กล่าวว่า ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ (Earthquake Research Center of Thailand : EARTH) เป็นศูนย์รวมบุคลากรวิจัยที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ จากสหสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหว ภายใต้การพัฒนาศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ (Hub of Talents) ที่ได้รับการสนับสนุนจาก วช. ร่วมจัดกิจกรรม “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหว” จัดแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหว และการประชุมวิชาการเผยแพร่ผลงานวิจัยและวิชาการด้านแผ่นดินไหว รวมทั้งแสดงต้นแบบการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ร่วมกับหน่วยงานภาคีวิจัย ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม

รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ประธานมูลนิธิมดชนะภัย กล่าวว่า มูลนิธิมดชนะภัย ตั้งอยู่ที่บ้านสิงหไคล จังหวัดเชียงราย เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อร่วมส่งเสริมด้านสังคมและศิลปวัฒนธรรมให้จังหวัดเชียงรายเป็นเมืองที่น่าอยู่ และเป็นเมืองศิลปะ รวมทั้งมุ่งเน้นการใช้วิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์เข้ามามีส่วนช่วยเหลือประชาชนให้ปลอดภัยจากภัยธรรมชาติ โดยทางมูลนิธิมดชนะภัยได้ร่วมจัดกิจกรรม “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหว” เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านภัยพิบัติแผ่นดินไหว ผ่านสื่อศิลปะและวิทยาศาสตร์ ให้กับผู้ที่สนใจตลอดเดือนพฤษภาคมนี้ และเป็นจุดเชื่อมต่อไปสู่เรื่องราวเหตุการณ์แผ่นดินไหวแม่ลาว ระหว่างภาคประชาสังคม ภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อเป็นการสะท้อนให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญของการจัดการ ภัยพิบัติที่ดีร่วมกัน “แผ่นดินไหว เราไหวอยู่”


ถัดมา กิจกรรมการเสวนาวิชาการในหัวข้อ“การเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติแผ่นดินไหวจากอดีตถึงปัจจุบัน” โดย ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ (EARTH: Earthquake Research Center of Thailand) เป็นผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหว

วช. ขอประชาสัมพันธ์และเชิญเข้าร่วมกิจกรรม “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว” ระหว่างวันที่ 5-7 พฤษภาคม 2567 ณ จังหวัดเชียงราย ดังนี้
• วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม 2567 ณ บ้านสิงหไคล มูลนิธิมดชนะภัย จังหวัดเชียงราย พบกับการบรรยายพิเศษ “รู้ทันแผ่นดินไหว” และการเสวนา “สิบปีผ่านไป แผ่นดินไหว เราไหวอยู่”  โดยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาวิชา และหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง พร้อมชมนิทรรศการพิเศษเกี่ยวกับภัยพิบัติแผ่นดินไหวและการรับมือในทุกมิติ อาทิ รถจำลองแผ่นดินไหว, แผนที่เสี่ยงภัยพิบัติแผ่นดินไหวกับกิจกรรม “จำได้ไหม?-จำได้ไหว”, การพยาบาลในสถานะการณ์แผ่นดินไหว เป็นต้น (เฉพาะวันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม 2567 เท่านั้น) และรับชมนิทรรศการฟรีตลอดเดือนพฤษภาคม อาทิ นิทรรศการภาพเล่าเรื่อง, นิทรรศการเชิงศิลปะสะท้อนภาพเหตุการณ์, นิทรรศการเชิงวิทยาศาสตร์ ณ บ้านสิงหไคล มูลนิธิมดชนะภัย จังหวัดเชียงราย 
• วันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม 2567 ณ โรงแรม The Heritage Chiang Rai พบกับการประชุมวิชาการเผยแพร่ผลงานวิจัยและวิชาการด้านแผ่นดินไหวในประเด็นต่างๆ โดย ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ (EARTH: Earthquake Research Center of Thailand) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) อาทิ การเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติแผ่นดินไหวจากอดีตถึงปัจจุบัน, การออกแบบก่อสร้างอาคารให้ต้านทานแผ่นดินไหว, ธรรมชาติแผ่นดินไหว : ความเสี่ยง, การเสริมกำลังอาคารที่มีอยู่, การเตรียมพร้อมเผชิญเหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหว (highlight), การตรวจติดตามสุขภาพโครงสร้างอาคารสูงในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย และการขับเคลื่อนภาคประชาสังคมกรณีตัวอย่างเขื่อนแม่สรวยและชุมชนชนบท
• วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม 2567 พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว จังหวัดเชียงราย ขอเชิญลงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อเตรียมความพร้อมและรับมือภัยพิบัติแผ่นดินไหว ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาวิชา จุดเริ่มเต้นจาก โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ > โรงเรียนชุมชนบ้านป่าก่อดำ > วัดดงมะเฟือง > เขื่อนแม่สรวย และสิ้นสุดที่ โรงเรียนศรีถ้อยสุนทรราษฎร์วิทยา (รับจำนวนจำกัด 50 ท่าน)