พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ขอเรียนชี้แจงกรณี ตามที่ปรากฎเป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ มีผู้เสียหายหลายรายเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน บช.สอท. แจ้งว่าถูกมิจฉาชีพแฮ็กบัญชีธนาคารในโทรศัพท์มือถือแล้วโอนเงินออกไปจนหมดบัญชี โดยผู้เสียหายคาดว่าเกิดจากการใช้ที่ชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ ดังต่อไปนี้
กองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ตอท.) ได้ซักถามผู้เสียหาย และทำการตรวจสอบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายพบว่า กรณีดังกล่าวเกิดจากการที่ผู้เสียหายถูกมิจฉาชีพสร้างกลอุบายหลอกลวงให้กดลิงก์ ดาวน์โหลด หรือติดตั้งแอปพลิเคชันปลอม โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอปพลิเคชันที่มีไว้สำหรับการหาคู่, แอปพลิเคชันดูไลฟ์สด ดูภาพลามกอนาจาร และแอปพลิเคชันพูดคุยยอดนิยม เช่น Viber, Sweet meet, Bumble, Snapchat, Kakao Talk และ Flower Dating เป็นต้น โดยเมื่อติดตั้งแอปพลิเคชันดังกล่าวจะขอสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลที่มีความอ่อนไหว (permission) หลายรายการ ทำให้มิจฉาชีพสามารถเชื่อมต่อระบบเข้ามา และควบคุมหน้าจอโทรศัพท์ของเหยื่อเมื่อใดก็ได้ โดยจะทิ้งระยะเวลาให้เหยื่อตายใจ ระหว่างนี้มิจฉาชีพจะสังเกตพฤติกรรมของเหยื่อ เช่น ใช้ธนาคารใด มีเงินในบัญชีเท่าไหร่ และจดจำรหัสผ่านจากที่เหยื่อกดเข้าระบบของแอปพลิเคชันธนาคาร กระทั่งเวลาผ่านไปจนเหยื่อเผลอ เมื่อได้โอกาสมิจฉาชีพจะเชื่อมต่อแล้วโอนเงินออกจากบัญชีไป นอกจากนี้แล้วยังพบการเข้าถึงเว็บไซต์อันตรายหลายรายการอีกด้วย ซึ่งยืนยันว่าไม่ได้เกี่ยวข้องการใช้สายชาร์จโทรศัพท์ตามที่ปรากฏเป็นข่าวแต่อย่างใด
ตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ความสำคัญ และมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวงผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวางมาตรการในการป้องกันและปราบปรามอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งรับผิดชอบงานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ได้กำชับสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเร่งดำเนินการปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่อง รวมถึงวางมาตรการป้องกันสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ
โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันมิจฉาชีพมักแสวงหาวิธีการใหม่ๆ หรือนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการหลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชน เพิ่มความซับซ้อน และเพิ่มความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น ทำให้ยังมีประชาชนหลายรายหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อ การหลอกลวงในลักษณะนี้มิจฉาชีพจะไม่ใช้ความกลัวเป็นเครื่องมือ แต่จะใช้ความสมัครใจของเหยื่อในการติดตั้งโปรแกรม หรือแอปพลิเคชันดังกล่าวแทน เพราะฉะนั้นการใช้งาน การเข้าถึงบริการบนสื่อสังคมออนไลน์ ต้องรู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพ มีสติ ระมัดระวังอยู่เสมอ รวมไปถึงการแจ้งเตือนไปยังคนใกล้ชิด หรือผู้อื่น เพื่อลดโอกาสในการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
ทั้งนี้ จึงขอฝากประชาสัมพันธ์แนวทางการป้องกัน ดังต่อไปนี้
1.ไม่กดลิงก์ที่เเนบมากับข้อความสั้น (SMS) หรือกดลิงก์ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันต่างๆ เพราะอาจเป็นการดักรับข้อมูล หรือการฝังมัลแวร์ของมิจฉาชีพ
2.ไม่ดาวน์โหลด หรือติดตั้งโปรแกรม หรือแอปพลิเคชันที่ผู้อื่นส่งมาให้โดยเด็ดขาด แม้จะเป็นโปรแกรมที่รู้จักก็ตาม โดยหากต้องการใช้งานขอให้ทำการติดตั้งผ่าน App Store หรือ Play Store เท่านั้น
3.ระมัดระวังแอปพลิเคชันที่ขออนุญาตเข้าถึงข้อมูลอัลบั้มรูปภาพ, ไมโครโฟน, ตำแหน่งที่ตั้ง, หมายเลขโทรศัพท์, รายชื่อผู้ติดต่อ เป็นต้น
4.หากท่านตกเป็นเหยื่อ เผลอติดตั้งแอปพลิเคชันแล้ว ให้รีบเปิดโหมดเครื่องบิน (Airplane Mode) เพื่อตัดสัญญาณไม่ให้โทรศัพท์สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ รวมถึงถอดซิมโทรศัพท์ออก จากนั้นเข้าไปติดต่อกับศูนย์บริการโทรศัพท์ที่ท่านใช้งานอยู่
5.ไม่ใช้อุปกรณ์ใดๆ ในจุดให้บริการสาธารณะ หรือจากคนแปลกหน้า
6.ไม่ควรอนุญาตให้เว็บไซต์ หรือเบราว์เซอร์ (web browser) จดจำรหัสผ่านส่วนตัว หรืออนุญาตให้เข้าสู่ระบบอัตโนมัติ
7.ไม่ควรใช้คอมพิวเตอร์สาธารณะ แล้วเข้าใช้งานเว็บไซต์ที่มีความเป็นส่วนตัว เช่น อีเมล, ธุรกรรมทางการเงิน, การเทรดหุ้น เป็นต้น
8.ไม่ควรเข้าใช้เว็บไซต์ที่ไม่มีความปลอดภัย เช่น เว็บพนัน, เว็บลามกอนาจาร รวมถึงการแอดไลน์ด้วย