Header ADS

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา เสด็จฯ เปิดตัวหนังสือ “แนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย เล่มที่ 3”THAI TEXTILES TREND BOOK SPRING/SUMMER 2023


กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จัดงานเปิดตัว หนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย เล่มที่ 3 (Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2023) และ การเสวนาวิชาการ “การส่งเสริมและพัฒนาภาพลักษณ์ผ้าไทยสู่สากล ประจำปี 2565” พร้อมจัดแสดงนิทรรศการแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย ระหว่างวันที่ 3-6 พฤศจิกายน 2565 ณ ICON Art and Cultural Space ชั้น 8 ไอคอนสยาม  โดยได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปทรงเป็นองค์ประธานในงานเปิดตัวหนังสือ และการเสวนาวิชาการฯ โดยมีนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม พร้อมผู้บริหารวธ. เฝ้ารับเสด็จฯ ในวันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน 2565  

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงตั้งพระทัยที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรให้สามารถเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตนเองและคนในครอบครัว ควบคู่ไปกับการถนอมรักษาสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติ โดยเฉพาะศิลปหัตถกรรมผ้าทอในแต่ละท้องถิ่น จึงทรงมีพระราชดำริให้จัดทำ THAI TEXTILES TREND BOOK Spring/Summer 2022 เล่มแรกขึ้น โดยทรงรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการบริหาร (Editor in Chief) ด้วยพระองค์เอง ต่อเนื่องมาถึงเล่มล่าสุด THAI TEXTILES TREND BOOK Spring/Summer 2023 เป็นเล่มที่ 3  
สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดทำหนังสือ Thai Textiles Trend Book เป็นการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับงานผ้าไทยและเทรนด์แฟชั่นระดับโลก เพื่อเสนอแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อนักออกแบบ ช่างทอผ้า ชุมชน และผู้ประกอบอาชีพทุกสาขา โดยหนังสือ Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2023 เล่มล่าสุด นำเสนอแนวคิด “วัฒนธรรมอันเคลื่อนคล้อย” (Moving Culture) การเคลื่อนที่ทางวัฒนธรรม และการแลกเปลี่ยนเอกลักษณ์ ของแต่ละถิ่นฐานบนผืนผ้า ซึ่งได้แรงบันดาลใจของบรรยากาศฤดูร้อนของไทย โดยทำการศึกษาควบคู่ไปกับงานภูมิปัญญา และงานหัตถศิลป์ สะท้อนแนวคิด ผ้าไทยหลายชนิด ที่มีที่มาจากวัฒนธรรมอื่นๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงธรรมชาติของวัฒนธรรมที่ไม่ตายตัว แต่มีการปรับตัวและแลกเปลี่ยนของอัตลักษณประจำถิ่นเกิดขึ้นอย่างช้าๆ และต่อเนื่อง โดยมีผ้าไทยประจำฤดูกาลนี้อย่าง “ผ้าขาวม้า” และ “ผ้าบาติก” เป็นตัวอย่างของการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นทั้งในไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

ภายใต้แนวคิด “วัฒนธรรมอันเคลื่อนคล้อย” ยังมีการแตกย่อยออกเป็น 5 เทรนด์ ได้แก่ มิติแห่งความฝัน (Dream Catcher) ตัวตนข้ามวัฒนธรรม (Expressive Exotic) ความไม่สมบูรณที่งอกงาม (Vibrant Variegations) อารยธรรมแห่งโลกใหม่ (Neo-Tribes) และ มหัศจรรยแห่งธรรมชาติ (Natural Extraction) ซึ่งแสดงถึง สีสัน รูปทรง รายละเอียด และวัสดุที่ช่วยพัฒนางานหัตถศิลป์ของไทยให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมร่วมสมัย ตลอดจนกระแสความยั่งยืนของโลก บอกเล่าวัฒนธรรมร่วมสมัยในมุมมองและมิติความหมายที่แตกต่างกันออกไป พร้อมกับการพัฒนาการเทคนิค วิธีการ และวัสดุสิ่งทอจากรูปแบบดั้งเดิมของแต่ละท้องถิ่นให้ยกระดับไปสู่มาตรฐานสากล
 
ภายในงานมีการจัดแสดงผลงานการออกแบบลิมิเต็ดเอดิชั่นของแบรนด์ชั้นนำ เพื่อนำเสนอแนวคิดหลักและเทรนด์ทั้ง 5 ประจำฤดูกาลนี้ โดยเฉพาะโทนสีที่ใช้จะเน้นเฉดที่หลากหลายมากขึ้น และเป็นโทนสีที่แปลกแตกต่างออกไปจากเดิม เพื่อให้ศิลปิน นักออกแบบ ตลอดจนช่างทอผ้า ชุมชน สามารถนำไปใช้ได้หลากหลายรูปแบบและมีมิติในการใช้สีมากขึ้น เริ่มจากแนวคิด วัฒนธรรมอันเคลื่อนคล้อย ที่นำเสนอโดยแบรนด์ SIRIVANNAVARI BANGKOK และเทรนด์ทั้ง 5 ประกอบด้วย มิติแห่งความฝัน นำเสนอโดยแบรนด์ VINN PATARARIN และ WISHARAWISH ตัวตนข้ามวัฒนธรรม นำเสนอโดยแบรนด์ THEATRE และ KLOSET ความไม่สมบูรณ์ที่งอกงาม นำเสนอโดยแบรนด์ EK THONGPRASERT และ RENIM PROJECT อารยธรรมแห่งโลกใหม่ นำเสนอโดยแบรนด์ ISSUE และ ARCHIVE026 สุดท้าย มหัศจรรย์แห่งธรรมชาติ นำเสนอโดยแบรนด์ ASAVA และ TANDT

จึงขอเชิญทุกท่านร่วมชมนิทรรศการ และงานเปิดตัวหนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย เล่มที่ 3 (Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2023) และการเสวนาวิชาการ “การส่งเสริมและพัฒนาภาพลักษณ์ผ้าไทยสู่สากล ประจำปี 2565” ในระหว่างวันที่ 3-6 พฤศจิกายน 2565 ณ ICON Art and Cultural Space ชั้น 8 ไอคอนสยาม