"อาชีวะเอาจริง ยกระดับสถานศึกษาปลอดภัย VEC Safety Center"
วันที่ 20 ตุลาคม 2565 นายทวีศักดิ์ คิ้วทอง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี ประธานกรรมการอาชีวศึกษากรุงเทพ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัย สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (ศป.สอศ.) หรือ VEC Safety Center เป็นประธานในการประชุมวางแผนป้องกันแก้ไขปัญหาพฤติกรรมไม่เหมาะสมของนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา และมาตรการรักษาความปลอดภัยในสถานศึกษา (การใช้อาวุธปืนและยาเสพติด) เชิงรุก กลุ่มสถานศึกษาเฝ้าระวังป้องกันเหตุทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล จำนวนกว่า 50 แห่ง ณ ห้องประชุมสุธี-ฉวีวรรณ มีนชัยนันท์ อาคาร 6 ชั้น 5 วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี
เพื่อวางแผนป้องกันเหตุ ความรุนแรงและพฤติกรรมไม่เหมาะสมของนักเรียน นักศึกษา ตามนโยบายสถานศึกษาปลอดภัย MOE Safety Center นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีว่าที่ร้อยตรี ดร.ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ที่ได้เร่งรัดพัฒนาคุณภาพอาชีวศึกษาใน 6 ด้าน ประกอบด้วย ด้านอาชีวศึกษาปลอดภัย ด้านการสร้างภาพลักษณ์อาชีวศึกษาใหม่ ด้านคุณภาพ ด้านขยายโอกาส ด้านธรรมาภิบาล และด้านสร้างความร่วมมือในการจัดการอาชีวศึกษา ในการบริหารจัดการรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความร่วมมือของพลังเครือข่ายเพื่อให้การผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาเป็นกำลังหลักในการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ คือ ประเทศไทย มั่นคง มั่งคั่ง ร่ำรวยด้วยมืออาชีวศึกษาและสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้เกิดความเชื่อมั่น เกิดความปลอดภัยในสถานศึกษาโดยบริการบริหารจัดการในรูปแบบ "One Team" จึงได้จัดตั้งกลุ่มเฝ้าระวังป้องกันเหตุขึ้น 7 กลุ่มในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลร่วมคิดร่วมทำร่วมแก้ไขปัญหา การจัดการประชุมครั้งนี้มี ผู้อำนวยการสถานศึกษา รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนากิจการนักเรียนนักศึกษา และหัวหน้างานปกครอง สถานศึกษาทั้ง 7 กลุ่มในเขตพื้นที่ ได้แก่
กลุ่มที่ 1 จตุจักร (เขตมีนบุรี เขตบางกะปิ เขตบึงกุ่ม เขตหนองจอก เขตคันนายาว เขตคลองสามวา)
กลุ่มที่ 2 อนุสรณ์สถาน (จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนนทบุรี เขตดอนเมือง เขตสายไหม เขตหลักสี่ เขตบางเขน เขตลาดพร้าว เขตบางซื่อ)
กลุ่มที่ 3 (เขตดุสิต เขตบางพลัด)
กลุ่มที่ 4 สวนหลวง ร.9 (จังหวัดสมุทรปราการ เขตพระโขนง เขตสวนหลวง เขตบางนา)
กลุ่มที่ 5 ธนบุรี (จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดนครปฐม เขตบางบอน เขตตลิ่งชัน เขตบางกอกน้อย เขตบางกอกใหญ่ เขตบางขุนเทียน เขตภาษีเจริญ เขตหนองแขม เขตทวีวัฒนา)
กลุ่มที่ 6 กรุงเก่า (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)
กลุ่มที่ 7 บางปะกง (จังหวัดฉะเชิงเทรา)
ด้านนายทวีศักดิ์ คิ้วทอง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี ประธานกรรมการอาชีวศึกษากรุงเทพ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัยอาชีวศึกษา (ศป.สอศ) กล่าวเพิ่มเติมว่าในที่ประชุมวันนี้สถานศึกษาได้เสนอแผนเชิงรุกแนวใหม่ และคิดนำเอาเทคโนโลยีนวัตกรรมมาช่วยในการปฏิบัติงานเพื่อยกระดับให้เป็นสถานศึกษาอัจฉริยะด้านความปลอดภัย หรือ "Smart Safety College" ตามหลัก 3 ป คือ 1. ป้องกันความเสี่ยงแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้น 2. ปลูกฝังให้นักเรียนนักศึกษา รู้วิธีเอาตัวรอดอย่างชาญฉลาดสอนวิชาชีวิตที่สำคัญ ไม่น้อยกว่าวิชาการ และ 3. ปราบปราม พวกที่กระทำความผิดอย่างจริงจัง เน้นเยียวยาผู้เสียหายเป็นสำคัญ
ซึ่งทุกกลุ่มได้เสนอแผนและมาตรการป้องกันเหตุ ที่เป็นแผนปฏิบัติได้จริงสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ที่ผู้ปฏิบัติช่วยกันคิดช่วยกันทำช่วยกันแก้ปัญหาแบบ Bottom up ไม่ใช่แผนปฏิบัติที่สั่งจากข้างบนลงไปหรือ Top Down ซึ่งที่ผ่านมาจะเกิดปัญหาเพราะไม่สอดคล้องกับผู้ปฏิบัติในพื้นที่ ในเบื้องต้นสถานศึกษาบางแห่งก็ยังมีข้อจำกัดทรัพยากร ในการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งจะขอรับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ต่อไป