บอร์ดกุ้งแจง…นำเข้ากุ้งเพื่อแปรรูปส่งออกสร้างรายได้เข้าประเทศในช่วงผลผลิตในประเทศขาดแคลนเท่านั้น
“เฉลิมชัย” ชี้ราคากุ้งดีต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงปีนี้ อาจมีผันผวนบ้างตามภาวะตลาด แม้เผชิญวิกฤติเศรษฐกิจแต่มีระบบประกันราคากุ้งเป็นมาตรการรองรับ
ทำให้ราคาเพิ่ม 11 – 20 บาทต่อ กก.
ยืนยันไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเพราะเป็นมติร่วมระหว่าง 8 องค์กรเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง – ภาคเอกชน และภาครัฐ เพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมกุ้งทะเลไทยหลังถดถอยมาตลอด
ตามที่สื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวถึงข้อกังวลของ นายปรีชา สุขเกษม เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลจังหวัดสงขลา ในประเด็นการนำเข้ากุ้งทะเลจากต่างประเทศของผู้ประกอบการห้องเย็นและโรงงานแปรรูปซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพราคากุ้งทะเลภายในประเทศนั้น
นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง ประธานคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์(Shrimp Board)หรือบอร์ดกุ้งเปิดเผยวันนี้ถึงกรณีดังกล่าวว่า จากปัญหาโรคกุ้งทะเล คุณภาพลูกพันธุ์กุ้ง และอาหารกุ้งในอดีต ทำให้การเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องถดถอย ผู้ประกอบการห้องเย็นและโรงงานแปรรูปที่ส่งออกกุ้งทะเลเป็นหลักต้องปิดตัวลงจากเดิมที่มีอยู่เกือบ 200 แห่ง ปัจจุบันเหลือเพียง 20 แห่ง ขณะที่จำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลก็ลดลง ทำให้ปริมาณการผลิตกุ้งของไทยที่เคยสูงสุดในปี 2552 ประมาณ 567,000 ตัน เหลือเพียงประมาณ 255,000 ตัน ในปี 2564 ซึ่งลดลงร้อยละ 55.03 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2552 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงมอบนโยบายให้กรมประมงดำเนินการฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลของประเทศไทยและแต่งตั้งบคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ หรือ บอร์ดกุ้ง (Shrimp Board) ประกอบกับการจัดทำแผนฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลของประเทศไทย โดยตั้งเป้าหมายให้กุ้งทะเลกลับมามีผลผลิตในระดับ 400,000 ตัน ภายในปี 2566
ภายใต้การหารือของบอร์ดกุ้งเกี่ยวกับแนวทางในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้และยังคงมีศักยภาพทางการแข่งขันในระดับโลก ซึ่งบอร์ดกุ้งมีฉันทามติร่วมกัน 3 ฝ่าย ได้แก่ 1) ผู้แทนเกษตรกร ประกอบด้วย สมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย สมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย สมาคมเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย สมาคมผู้เลี้ยงกุ้งจันทบุรี สหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำท่าทอง จำกัด ชมรมเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดสงขลา เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งภาคกลาง ชมรมผู้ผลิตลูกพันธุ์สัตว์น้ำ และกลุ่มคลัสเตอร์กุ้งกุลาดำไทย 2) ผู้ประกอบการห้องเย็นและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ประกอบด้วย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมการค้าปัจจัยการผลิตสัตว์น้ำไทย และสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย และ 3) หน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วย กรมประมง และกรมการค้าภายในในการนำเข้าวัตถุดิบกุ้งทะเลจากต่างประเทศเฉพาะช่วงเวลาและปริมาณผลผลิตภายในประเทศมีปริมาณน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงงานแปรรูป ซึ่งมาตรการนำเข้าวัตถุดิบกุ้งทะเลนี้เพื่อการแปรรูปและส่งออกเท่านั้น และกำหนดแผนการนำเข้าวัตถุดิบกุ้งทะเลจากสาธารณรัฐเอกวาดอร์และสาธารณรัฐอินเดีย ปี 2565 ปริมาณรวม 10,501 ตัน จากปริมาณการผลิตกุ้งทะเลของไทยในปี 2565 (มกราคม - กรกฎาคม) 138,732.43 ตัน แลกกับการประกันราคาโดยภาคเอกชนซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2564 เป็นต้นมา และจะยังคงช่วยเหลือเกษตรกรไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ซึ่งผู้แทนเกษตรกรในบอร์ดกุ้งข้างต้นเห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าว ทำให้ราคากุ้งภายในประเทศได้รับการประกันขั้นต่ำโดยภาคเอกชนเป็นครั้งแรก ซึ่งไม่เป็นภาระของรัฐบาลเหมือนในอดีต ดังที่สมาคมเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทยได้เคยให้สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2565 กล่าวไว้ว่า “การจัดตั้งบอร์ดกุ้งในครั้งนี้ เป็นการจับมือของเกษตรกรและผู้แปรรูปเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ของอุตสาหกรรมกุ้งทะเลไทย เพื่อแก้ไขปัญหาและบริหารจัดการผลผลิตกุ้งทะเลตลอดห่วงโซ่การผลิตอย่างแท้จริง ทั้งด้านการผลิตและการตลาด ผลลัพธ์ที่ได้ คือ ทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลและผู้แปรรูปสามารถประกอบอาชีพในห่วงโซ่ได้อย่างยั่งยืน”
พร้อมกันนี้ บอร์ดกุ้งได้เผยข้อมูลว่า จากการประกาศราคาประกันของบอร์ดกุ้งและเริ่มดำเนินการรับซื้อผลผลิตกุ้งทะเลจากเกษตรกร ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2564 เป็นต้นมา ส่งผลให้ราคากุ้งทะเลภายในประเทศปรับตัวสูงขึ้น โดยพบว่า ราคากุ้งขาวแวนนาไม ณ ตลาดทะเลไทย จังหวัดสมุทรสาคร ระหว่างเดือนตุลาคม 2564 - สิงหาคม 2565 ราคาเฉลี่ยรายเดือนปรับเพิ่มขึ้นทุกขนาด ประมาณ 6.32 - 12.70 บาท/กก. และราคากุ้งขาวแวนนาไมปากบ่อ ระหว่างเดือนตุลาคม 2564 - สิงหาคม 2565 ราคาเฉลี่ยรายเดือนปรับเพิ่มขึ้นทุกขนาดเช่นกัน ประมาณ 11.85 - 20.64 บาท/กก. ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าการนำเข้ากุ้งทะเลจากต่างประเทศไม่กระทบกับราคากุ้งภายในประเทศแต่อย่างใด ภายใต้การประกันราคาจากห้องเย็นและโรงงานแปรรูป
อธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า กรมประมงและชริมพ์บอร์ดเข้าใจดีถึงความกังวลและข้อห่วงใยของเกษตรกรบางรายบางกลุ่ม จึงขอชี้แจงให้เข้าใจถึงการทำงานร่วมกันที่ผ่านมา และเชื่อมั่นว่าประเทศไทยเราจะต้องกลับไปยืนเป็นเบอร์ต้นของโลกในการส่งออกสินค้ากุ้งทะเลได้ดังเดิม หากแต่ทุกภาคส่วนปล่อยให้ปัญหาเกิดขึ้นไปตามเดิม วันหน้าอาจถดถอยไปมากกว่านี้.