ผลการตรวจพบการกระทำความผิดประจำเดือนพฤษภาคม 2565
นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า กรมศุลกากร มีนโยบายให้การเร่งรัดปราบปรามการลักลอบและหลีกเลี่ยงนำสินค้าเข้ามา
ในราชอาณาจักร เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี ปกป้องสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดพร้อมหน่วยปฏิบัติการวางแผนตรวจค้นจับกุมอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษ เพื่อสกัดกั้นป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น สินค้าเกษตร น้ำมัน ยาเสพติด IPRs และสินค้าละเมิดอนุสัญญา CITES โดยสืบสวนหาข่าวและออกลาดตระเวนด้วยรถยนต์ ตรวจค้นรถบรรทุก โกดัง แหล่งจำหน่าย สถานที่เก็บรักษาที่เชื่อได้ว่ามีของผิดกฎหมายเก็บซุกซ่อนอยู่ อีกทั้งยังมีแผนการป้องกันและปราบปรามสินค้าดังกล่าวในช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงในการลักลอบนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ มีการบูรณาการกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอื่นทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง อาทิ ทหาร กอ.รมน. ป.ป.ส. บช.ปส. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สถานทูตต่าง ๆ องค์การตำรวจสากล (Interpol) สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (Drug Enforcement Administration: DEA) เป็นต้น เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการข่าวระหว่างกัน สำหรับการตรวจพบการกระทำความผิดตามกฎหมายศุลกากรประจำเดือนพฤษภาคม 2565 มีจำนวน 2,642 คดี คิดเป็นมูลค่ารวม 106.37 ล้านบาท มีผลงานที่น่าสนใจ ดังนี้
1. ผลการจับกุมยาเสพติด
กองสืบสวนและปราบปราม ร่วมกับชุดปฏิบัติการ Airport Interdiction Task Force (AITF) ได้ทำการตรวจค้นยาเสพติดประเภท เมทแอมเฟตามีน ที่ซุกซ่อนมาในพัสดุไปรษณีย์เพื่อส่งไปต่างประเทศ ณ ศูนย์ไปรษณีย์สุวรรณภูมิ (Airport Mail Center) จำนวน 3 คดี มูลค่า 2,721,600 บาท มีลำดับดังนี้
1.1. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2565 จับกุมเมทแอมเฟตามีน ปริมาณ 97 กรัม มูลค่า 85,200 บาท
ซุกซ่อนในกระถางธูปเซรามิก
1.2. เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2565 จับกุมเมทแอมเฟตามีน ปริมาณ 4,341 กรัม มูลค่า 2,604,600 บาท ซุกซ่อนในลำไยกระป๋อง
1.3. เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 จับกุมเมทแอมเฟตามีน ปริมาณ 53 กรัม มูลค่า 31,800 บาท
ซุกซ่อนในซองกาแฟสำเร็จรูป
ทั้งนี้ สถิติการตรวจยึดยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในเดือนพฤษภาคม 2565 มีจำนวน 5 คดี มูลค่า 3.39 ล้านบาท
2. ผลการจับกุมบุหรี่
เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 ด่านศุลกากรคลองใหญ่ ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าลาดตระเวน
เพื่อป้องกันและปราบปรามการลักลอบหนีศุลกากรนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านพิธีการศุลกากร ตามพื้นที่ชายฝั่งทะเลและแนวชายแดน และช่องทางธรรมชาติพื้นที่ชายแดนบ้านหาดเล็ก จังหวัดตราด ซึ่งในขณะลาดตระเวนบริเวณลานจอดรถของบริษัทแห่งหนึ่ง ตำบลหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด พบถุงพลาสติกสีดำ จำนวน 5 ถุง วางแอบอยู่ข้างเสาโรงจอดรถ ด้วยเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีของลักลอบหนีศุลกากรบรรจุอยู่ภายใน ไม่มีผู้ใดแสดงตนเป็นเจ้าของ จึงได้ทำการเปิดตรวจ พบว่าภายในบรรจุบุหรี่ต่างประเทศ จำนวน 29,600 มวน มูลค่า 355,354 บาท โดยไม่พบเอกสารหรือหลักฐานการผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง
ทั้งนี้ สถิติการจับกุมบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในเดือนพฤษภาคม 2565 ได้แก่ 1. บุหรี่ จำนวน 82 คดี มูลค่า 6.53 ล้านบาท 2. บารากู่ บารากู่ไฟฟ้า บุหรี่ไฟฟ้า และอุปกรณ์ จำนวน 40 คดี มูลค่า 1.47 ล้านบาท
3. ผลการจับกุมสินค้าเกษตร
3.1. เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 ด่านศุลกากรสิชล ได้ตรวจค้นจับกุมรถกระบะบรรทุก พบหอมและกระเทียมบรรจุกระสอบ ไม่มีเอกสารหลักฐานการผ่านพิธีการศุลกากร จำนวน 380 กระสอบ กระสอบละ 10 กิโลกรัม มูลค่า 103,360 บาท
3.2. เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 ด่านศุลกากรช่องเม็ก ได้ตรวจยึดของกลาง เป็นต้นกล้าทุเรียนสำหรับเพาะพันธุ์ บริเวณหน้าจุดตรวจรถยนต์และสินค้าขาออก ด่านพรมแดนช่องเม็ก ตำบลช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 500 ถุง ปริมาณ 8,000 ต้น มูลค่า 299,670 บาท
สำหรับผู้ที่นำต้นกล้าทุเรียนออกนอกราชอาณาจักร ถือเป็นการกระทำความผิด
ฐานพยายามนำออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง หรือของต้องห้าม
ต้องกำกัด หรือโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 242 ประกอบมาตรา 166 มาตรา 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ผิดตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ทั้งนี้ สถิติการจับกุมสินค้าเกษตร ในเดือนพฤษภาคม 2565 มีจำนวน 74 คดี มูลค่า 1.67 ล้านบาท
อ็อด อินทรีย์ รายงาน